“2024 PROBLEM” ปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นที่เริ่มขึ้นในปีนี้ และจะหนักขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

ในญี่ปุ่นมีคำเฉพาะคำใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้คือ คำว่า “2024 Problem” (ปัญหาปี 2024) ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกขยายใหญ่ขึ้นจากการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ 2024 ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา 

ปัญหาที่ว่านี้คือปัญหาขาดแคลนคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า รวมถึงคนขับรถยกสินค้า ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักด้านโลจิสติกส์

เดิมทีญี่ปุ่นก็มีปัญหาขาดแคลนคนทำงานอยู่แล้วในทุกภาคส่วน แต่ปัญหาขาดแคลนคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้านั้นจะรุนแรงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากกฎหมายมาตรฐานแรงงานของญี่ปุ่นฉบับปรับปรุงล่าสุดได้จำกัดเวลาการทำงานของคนขับรถบรรทุกรวมถึงคนขับรถยกสินค้าในคลังสินค้าให้ทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 960 ชั่วโมงต่อปี และกำหนดให้ทำงานได้ไม่เกิน 15 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมที่ให้ทำได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน

รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะทำให้ขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งทางรถบรรทุกทั่วประเทศญี่ปุ่นลดลง 14% ในปี 2024 นี้ และจะลดลง 34% ในปีงบประมาณ 2030

ตัวเลขใกล้เคียงกับที่สถาบันวิจัยโนมูระ (Nomura Research Institute) ประมาณการว่า ปัญหาขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจะทำให้ขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งโดยรถบรรทุกในประเทศญี่ปุ่นลดลงไป 35% ในปี 2030 ส่งผลให้ 35% ของสินค้าในประเทศญี่ปุ่นจะเจอปัญหาไม่สามารถขนส่งได้ และในบางภูมิภาคผลกระทบจะมากกว่าในภาพรวม อย่างเช่น ภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ (41%) ภูมิภาคชิโกกุที่อยู่ทางตะวันตก (40%) ภูมิภาคฮอกไกโดที่อยู่เหนือสุด (39%) และภูมิภาคคิวชูที่อยู่ใต้สุด (39%)

ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากอย่างแน่นอน แม้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศ “เจ้าแห่งนวัตกรรม” แต่ก็ยังไม่สามารถใช้หุ่นยนต์มาขับรถแทนคนได้

สิ่งที่ญี่ปุ่นทำได้ในเวลานี้จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่กระบวนการอื่น ๆ แทน เช่น ปรับปรุงการจัดการคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้รถบรรทุกต้องรอนานในกระบวนการรับสินค้าขึ้นรถหรือนำส่งสินค้าลงจากรถ ก็จะช่วยลดเวลาการทำงานของคนขับรถได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นความพยายามหลายรูปแบบที่จะแก้ปัญหานี้ ทั้งโดยภาครัฐ ผู้ให้บริการรถบรรทุก และบริษัทเจ้าของสินค้า ซึ่งบางเจ้ามีรถบรรทุกของตนเอง

ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่เห็นแล้ว เช่น สมาคมรถบรรทุกจังหวัดอาคิตะ ได้ทดสอบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งผักและผลไม้ตั้งแต่ปี 2021 โดยร่วมกับรัฐบาลจังหวัดอาคิตะ สมาพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ และ “ฮาโคบุ” บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในการทดสอบดังกล่าวสามารถลดเวลาในการขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าลงเหลือ 12 ชั่วโมง 25 นาที จากเดิม 15 ชั่วโมง 30 นาที แต่การปรับปรุงกระบวนการเหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 27%

อีกกรณีน่าสนใจเป็นการแก้ปัญหาโดยภาคธุรกิจเอง คือ แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) และลอว์สัน (Lawson) เครือร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น ร่วมมือกันใช้รถบรรทุกคันเดียวกันในการจัดส่งอาหารแช่แข็งจากคลังสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2024 เป็นต้นไป โดยเริ่มจากในพื้นที่จังหวัดมิยากิ จังหวัดอิวาเตะ และจังหวัดอาคิตะ ในภูมิภาคโทโฮคุ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น และจะพิจารณาขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ อีก 

ในอีกด้านหนึ่ง อย่างที่ว่ากันว่า ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับบางคน ซึ่งหนึ่งในผู้คว้าโอกาสจากปัญหานี้คือ “มิตซูบิชิ โลจิสเน็กต์” (Mitsubishi Logisnext) ผู้ผลิตรถยกในคลังสินค้า หรือ “ฟอร์กลิฟต์” ที่เปิดเผยว่า มีการสอบถามถึงรถยกระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถึงแม้ว่ามันจะมีราคาแพงกว่ารุ่นทั่วไปหลายเท่า แต่ผู้ประกอบการเหล่านั้นก็ยอมจ่าย เนื่องจากหาคนทำงานขับรถยกไม่ได้

ดูเหมือนว่าปัญหาขาดแคลนคนขับรถบรรทุกสินค้าจะนำไปสู่การที่ผู้ให้บริการรถบรรทุกจะสามารถขึ้นค่าบริการขนส่งสินค้าได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เพราะทางฝั่งบริษัท-ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ว่าจ้างขนส่งสินค้าก็ต้องพยายามควบคุมต้นทุน

“มาซาโตชิ มาวาตาริ” (Masatoshi Mawatari) หัวหน้าสมาคมรถบรรทุกคิวชู บอกว่า บริษัทรถบรรทุกประมาณ 30% ทั่วประเทศไม่สามารถขอขึ้นค่าบริการจากผู้ส่งสินค้าได้ เพราะกลัวว่าจะเสียลูกค้าไปอย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ไม่ช้าก็เร็ว จะไม่มีใครยินดีให้บริการขนส่งสินค้า เว้นแต่ว่าผู้ใช้บริการจะยอมรับคำขอขึ้นค่าบริการของผู้ให้บริการรถบรรทุก

“เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขปัญหาปี 2024 ด้วยความพยายามของอุตสาหกรรมของเราเพียงฝ่ายเดียว” เขากล่าว

แต่ถึงแม้ว่าจะมีการขึ้นค่าบริการขนส่งและขึ้นค่าแรงให้คนขับ อุตสาหกรรมนี้ก็ยังต้องเจอปัญหาที่ว่า ญี่ปุ่นขาดแคลนคนวัยทำงาน ยิ่งกว่านั้น งานขับรถบรรทุกและขับรถยกของนั้นก็เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ ต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามมาตรฐานญี่ปุ่น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาคนทำงานได้

ปัญหานี้จึงยังจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป สมกับที่มีการนิยามว่า “2024 Problem”

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “2024 Problem” ปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นที่เริ่มขึ้นในปีนี้ และจะหนักขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-04-15T04:18:11Z dg43tfdfdgfd