ทำไมธุรกิจ ‘แท็กซี่ไร้คนขับ’ ถึงยังไม่ปัง ทั้งที่ล้ำสมัยและไม่ต้องมีคนขับ

ลองนึกภาพการนั่งรถที่ไม่ต้องโฟกัสที่การขับ สามารถทำอย่างอื่นแทนได้ เช่น อ่านนิตยสาร เล่นโทรศัพท์ หรือมองวิวรอบข้าง นี่คือจุดเด่นของ “รถยนต์ไร้คนขับ” (Autonomous Car) ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) แทนมนุษย์ จนเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้น คือ “แท็กซี่ไร้คนขับ” (Robotaxi)

หลายคนมองว่า นวัตกรรมนี้จะเข้ามาดิสรัปต์วงการรถแท็กซี่แบบเดิมและ Uber หรือไม่ เพราะไม่ต้องมีคนขับ ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ที่ไม่มีอาการเหนื่อยล้าเหมือนมนุษย์

แม้ดูล้ำสมัยเช่นนี้ แต่ในความจริงแล้ว อาจยังไม่สามารถสู้กับแท็กซี่แบบเดิมได้ แถมเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำกำไรยาก และบางรายประสบผลขาดทุนด้วย อย่าง “จีน” ที่นำโรโบแท็กซี่มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวางกว่าโลกตะวันตก เหล่าบริษัทที่ประกอบธุรกิจนี้ ไม่ว่า “Apollo Go” ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จีนอย่าง Baidu แม้ลงทุนเงินจำนวนมากกับการวิจัยและพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับแล้ว แต่ยังคงไม่สามารถสร้างผลกำไรได้จนถึงปัจจุบัน

ไม่เว้นแม้แต่ สตาร์ทอัพธุรกิจนี้อย่าง “Banma Network Technologies” แม้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alibaba ยักษ์อีคอมเมิร์ซของจีน แต่ก็เผชิญความลำบากในการทำกำไร และบริษัทที่เล็กลงมาอย่าง iMotion ผลประกอบการโรโบแท็กซี่ตั้งแต่ปี 2563-2566 ประสบผลขาดทุนมากกว่า 1,000 ล้านหยวน หรือราว 5,100 ล้านบาท

ส่วนในสหรัฐ บริษัทให้บริการรถไร้คนขับที่ชื่อว่า “Cruise” ของค่ายรถ General Motors เผชิญผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 3,480 ล้านดอลลาร์หรือราว 120,000 ล้านบาทในปี 2566  

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าค้นหาว่า “ความท้าทาย” อะไรที่ทำให้ “โมเดลแท็กซี่ไร้คนขับ” ทำกำไรยาก

ความเชื่อถือบนแผ่นน้ำแข็งอันเปราะบาง

เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐ แท็กซี่ไร้คนขับของบริษัท Cruise ประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับคนเดินเท้า และลากร่างหญิงคนนั้นไปไกลถึง 6 เมตร จนบาดเจ็บสาหัส อุบัติเหตุนี้ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมนี้อย่างมาก

- เมื่อรถไร้คนขับ Cruise ชนคนเดินเท้าจนบาดเจ็บสาหัส (เครดิต: San Francisco Fire Department) -

- ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน มี.ค. 2566 Cruise เคยชนกับรถบัสแล้ว (เครดิต: @d_bau13) -

ที่สำคัญในวันที่ 29 เม.ย. 2567 สำนักงานความปลอดภัยด้านการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐ (NHTSA) ได้เข้าสอบสวนเทคโนโลยี BlueCruise ของค่ายรถ Ford Motor หลังเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต 2 ครั้ง โดยระบบนี้ถูกออกแบบมาให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องควบคุมพวงมาลัย

สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับแท็กซี่ทั่วไป ผู้คนมักจะตำหนิเฉพาะคนขับ "รายนั้น" ว่าประมาทหรือขาดวินัย แต่เมื่อเป็นโรโบแท็กซี่ ต่อให้เกิดอุบัติเหตุเพียง 1-2 คัน แต่ผู้ใช้อาจถึงขั้นไม่ไว้ใจ “แท็กซี่ทั้งหมด” ของบริษัทนั้น นี่จึงเป็น “โจทย์ยาก” ของธุรกิจนี้ที่ต้องรักษาความปลอดภัยให้ถึงที่สุด และท้าทายกว่าแท็กซี่แบบเดิม

“สำหรับรถยนต์ไร้คนขับแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุเมื่อไร จะกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา และนี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญ โดยอุตสาหกรรมนี้ เหมือนเหยียบอยู่บนพื้นน้ำแข็งอันเปราะบาง ที่พร้อมแตกได้ทุกเมื่อ” มิสซี คัมมิงส์ (Missy Cummings) ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการของสถาบัน Mason Autonomy and Robotics Center ที่มหาวิทยาลัย George Mason กล่าว

ขณะที่เคธี เชส (Cathy Chase) ประธานกลุ่มนักเคลื่อนไหว Advocates for Highway and Auto Safety ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐ แสดงความกังวลว่า “อาจมีผู้คนเสียชีวิตจากรถไร้คนขับมากขึ้น พวกเราไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยีนี้ เพียงแต่กังวลถึงการเร่งรีบนำมาใช้งานจริงบนถนนสาธารณะ โดยยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ”

ลงทุนหนักกว่าแท็กซี่ธรรมดาหลายเท่า

เพื่อทำให้แท็กซี่ไร้คนขับมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้น ภายในรถจึงต้องติดตั้งกล้องจำนวนไม่น้อย พร้อมเซนเซอร์หลายตัว ทั้งยังต้องมีการมอนิเตอร์จากทางไกล เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งต้นทุนธุรกิจที่ “สูงกว่า” รถแท็กซี่แบบเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่ที่รถวิ่ง ต้องทำแผนที่สำรวจอย่างละเอียดและครอบคลุมก่อน และอัปเดตแผนที่นี้อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นความท้าทายในการขยายพื้นที่ให้บริการ เพราะทุกครั้งที่ขยาย ก็มาพร้อมต้นทุนสำรวจที่สูงขึ้นตาม

ไบรอันต์ วอร์คเกอร์ สมิธ (Bryant Walker Smith) รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัย South Carolina มองว่า ธุรกิจรถยนต์ไร้คนขับยังคงยากที่จะแข่งขันกับแท็กซี่และ Uber ซึ่งมีต้นทุนรถ และค่าจ้างคนขับที่ต่ำกว่า

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าโรโบแท็กซี่ไม่ต้องใช้คนขับ แต่การที่ต้องติดกล้องหลายตัว มีระบบความปลอดภัยต่าง ๆ การทำแผนที่ รวมถึงต้องมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามรถตลอดจากทางไกล จึงทำให้ต้นทุนรถสูงขึ้น จนเป็นตัวกดดันกำไรนั่นเอง

สถานการณ์ไม่คาดฝัน จะตัดสินใจอย่างไร?

ลองจินตนาการดูว่า ขณะรถยนต์ไร้คนขับกำลังวิ่ง แล้วเผชิญ “เหตุสุดวิสัย” มีคนตัดหน้าถนนเข้ามา รถอัตโนมัตินี้จะตัดสินใจด้วยฐานเหตุผลอะไร “ขับชน” คนที่ตัดหน้าเพื่อปกป้องคนในรถ หรือ “เบี่ยงหลบ” เพื่อเลี่ยงการชนคนข้างหน้า แต่ก็เสี่ยงชนรถข้างเคียงจนอาจเป็นอันตรายต่อเจ้าของรถแทน

ยังไม่นับรวมกรณีเผชิญหิมะ ฝนตกหนัก และหมอก ที่สามารถทำให้ทัศนวิสัยและเซนเซอร์ของรถในการอ่านสภาพแวดล้อม เกิดความผิดปกติขึ้นมาได้ จนอาจนำไปสู่การขับขี่ที่ผิดพลาด

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า แม้ “เทคโนโลยีไร้คนขับ” ทำให้มนุษย์มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น โดยยกหน้าที่ขับรถให้ AI แทน แต่จากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้เรายังไม่สามารถวางใจระบบได้ 100%

อีกทั้งหากรถไร้คนขับเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ผู้คนไม่ได้มองไปที่คันเดียวที่เกิดเหตุ แต่จะมองไปถึงระบบรถทั้งหมด ยังไม่นับรวมการเผชิญเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ ที่น่าขบคิดว่า โรโบแท็กซี่จะตัดสินใจอย่างไร

ปัญหาเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งต้นทุนการวิจัย และระบบรักษาความปลอดภัยที่สูงตาม จนกลายเป็นความท้าทายในการสร้างผลกำไรของโมเดลธุรกิจนี้

อ้างอิง: washingtontechnologyreutersscmpmprnewsreuters

2024-05-04T02:00:50Z dg43tfdfdgfd