ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกร่วง 25% ปิกอัพไม่ฟื้น หนี้เสียพุ่ง

สรุปยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 67) รวมทุกยี่ห้อทำได้กว่า 1.6 แสนคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ทั้งแบรนด์ญี่ปุ่น อเมริกัน จีน ร่วงถ้วนหน้า มีเพียง เกรท วอลล์ มอเตอร์ รายเดียวที่ตัวเลขเป็นบวก (ดูตารางประกอบ)

 

ส่วนตลาด EV ยังมียอดจดทะเบียนต่อเนื่อง โดยเป็นของ BYD เกือบ 10,000 คัน NETA 2,800 คัน Deepal ในเครือฉางอัน 870 คัน

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดพบว่า สถานการณ์ของรถปิกอัพ (ไม่รวมพีพีวี) ค่อนข้างสาหัส ซึ่งตลาด 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 67) ทำได้รวม 53,623 คัน ลดลง 43.3% ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่ง 47,731 คัน ลดลง 9.3%

 

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ประกอบ กับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จึงคาดว่าตลาดรถยนต์รวมปีนี้จะอยู่ที่ 7.3 แสนคัน ลดลงจากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ 8.0 แสนคัน

 

สำหรับโตโยต้า หวังส่วนแบ่งทางการตลาดปี 2567 ไว้ 34% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 2.5 แสนคัน ซึ่งบริษัทเตรียมเปิดตัวรถยนต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรถไฮบริดรุ่นใหม่

“ตลาดรถยนต์ปี 2566 มียอดขาย 7.7 แสนคัน ลดลง 9% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ตลาดรถยนต์ไม่เติบโต โดยเฉพาะรถปิกอัพ ที่ได้รับผลกระทบ จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ก็ทำให้ตลาดปิกอัพในปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 30%” นายยามาชิตะ กล่าว

 

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยปี 2567 คาดว่ากำลังผลิตจะทำได้ 1.9 ล้านคัน แม้จะเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็ตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ (1.95 ล้านคัน) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอดขายในประเทศลดลง ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 7.5 แสนคัน และส่งออก 1.15 ล้านคัน

สำหรับปัจจัยลบที่มีผลกระทบ กับยอดขายในประเทศคือ หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และหนี้เสีย (NPLs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ไฟแนนซ์ต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันยังกระทบกับตลาดรถยนต์มือสอง ที่ปริมาณซัพพลายล้นตลาด จากปัญหาการยึดรถที่เพิ่มขึ้น ทำให้รถมือสองราคาตก

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ยังต้องปรับตัวกับมาตรการใหม่ของภาครัฐ ทั้งการบังคับใช้มาตรฐานไอเสีย ยูโร 5 ที่ทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น

 

ตลอดจนมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 3.0, EV 3.5 และมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Bus & E-Truck) โดยให้บริษัท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

 

ด้านยอดขาย EV ในไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ระดับ 1.0-1.2 แสนคัน ที่ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการ กระตุ้นของรัฐบาล

2024-04-13T03:43:31Z dg43tfdfdgfd