ปิดโรงงานยอดเพิ่มเท่าตัว จับตาธุรกิจรถมือสองเสี่ยง

ธุรกิจต้านไม่ไหว พ่ายพิษเศรษฐกิจ แข่งขันสูง ขาดทุนหนัก ทยอยปิดกิจการระนาว กรมโรงงานฯเผย 3 เดือนแรก ตัวเลขพุ่งกว่าเท่าตัว “ชลบุรี-กรุงเทพฯ-อยุธยา” นำโด่ง วงการรถยนต์จับตา “รถมือสอง” เสี่ยงปิดกิจการ สมรภูมิร้านอาหารไม่น้อยหน้าการแข่งขันระอุแม้แต่แบรนด์ดังยังยอมถอยทัพโบกมือลาโรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภาพการทยอยปิดกิจการของหลาย ๆ ธุรกิจยังเป็นปรากฏการณ์ที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ล่าสุด การประกาศปิดกิจการ ลอยแพพนักงานรับวันแรงงาน 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ของบริษัท วี.เอ็ม.ซี. เซฟตี้กลาส (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตกระจกนิรภัยรถยนต์และอาคาร ที่ประสบภาวะขาดทุนสะสม ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้ปัจจุบันบริษัทตกอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้

จากก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน บริษัทซื้อขายรถมือสอง ในชื่อ CARS24 ก็ได้ประกาศปิดกิจการทุกสาขาทั่วประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน และถัดมาเป็นคิวของร้านอร่อยดี เชนร้านอาหารไทยจานเดียวในเครือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ซึ่งประกาศปิดบริการสาขาที่มีอยู่ 11 สาขา ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป จากปี 2565 ที่มี 19 สาขา

เช่นเดียวกับร้านไดโดมอน เชนร้านปิ้งย่างชื่อดัง ภายใต้การดูแลของบริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ประกาศปิดสาขาเซ็นทรัล อุบลฯ ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “Daidomon” ที่เปิดให้บริการถึง 30 เมษายนที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้าย หลังจากขาดทุนสะสมมาต่อเนื่อง และมีการทยอยปิดสาขามาเป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไดโดมอนยังมีสาขาเหลือเพียงแห่งเดียว ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

นอกจากนี้ เมื่อช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธุรกิจเอาต์เลตแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ได้มีการประกาศลดราคาล้างสต๊อกสินค้าเพื่อปิดกิจการ ทั้งเครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า รองเท้า

ตัวเลขโรงงานปิดพุ่ง

รายงานข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยสถิติการเลิกกิจการโรงงาน ไตรมาส 1/2567 ว่า มีการเลิกกิจการ 367 โรง เงินลงทุน 9,417.27 ล้านบาท เลิกจ้าง 10,066 คน แบ่งเป็นโรงงานจำพวก 2 (เครื่องจักรไม่เกิน 75 แรงม้า) 19 โรง เงินลงทุน 195.38 ล้านบาท โรงงานจำพวก 3 (เครื่องจักรเกิน 75 แรงม้า) 348 โรง เงินลงทุน 9,221.79 ล้านบาท สูงสุด คือ จังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา

โดยประเภทโรงงานที่เลิกกิจการ อันดับ 1 การขุดลอกกรวดทรายหรือดิน อันดับ 2 การทำพลาสติกเป็นเม็ดแท่งท่อหลอดแผ่นชิ้นผง หรือรูปทรงต่าง ๆ อันดับ 3 การทำภาชนะบรรจุเครื่องมือหรือเครื่องใช้จากไม้ และรวมถึงชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อันดับ 4 การกลึงเจาะขวานกัดใสเจียนหรือเชื่อมโลหะทั่วไป อันดับ 5 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยก หรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

เทียบกับช่วงเดียวกัน ไตรมาส 1/2566 ที่มีการเลิกกิจการ 169 โรง เงินลงทุน 2,432.72 ล้านบาท เลิกจ้าง 3,745 คน สูงสุด คือ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และชลบุรี ประเภทโรงงานที่เลิกกิจการ อันดับ 1 การขุดลอก กรวด ทราย หรือดิน อันดับ 2 การทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิปซัม อันดับ 3 การดูดทราย

อันดับ 4 การทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือนพลาสติก และอันดับ 5 การต้มนึ่งหรืออบพืชหรือเมล็ดพืช, การเป่าหัวพืชหรือทำหัวพืชให้เป็นเส้นแว่นหรือแท่ง, การทำวงกบขอบประตูหน้าต่าง บานหน้าต่าง, การทำภาชนะบรรจุหรือถุงหรือกระสอบ, การทำพลาสติกเป็นแท่ง เม็ด ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผงหรือรูปทรงต่าง ๆ, การทำสปริงเหล็ก สลัก แป้น เกลียววงแหวนหมุนย้ำ, ผลิตประกอบดัดแปลงหรือซ่อมแซมเครื่องจักรเฉพาะที่ใช้ไฟฟ้า และการซ่อมแซมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

รถมือสองเสี่ยงปิดกิจการ

ขณะที่แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า การปิดกิจการแบบสายฟ้าแลบของ CARS24 บริษัทซื้อขายรถแลกเปลี่ยนรถชื่อดัง มีแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ โดยระบุว่าขาดทุนในระดับพันล้านบาท ส่งผลให้ต้องปิดกิจการทุกสาขา ทำ หลายชีวิตตกงานทันที กำลังเป็นที่จับจ้องของคนในวงการว่าจะแรงกระเพื่อมหรือใครจะเป็นรายต่อไป เพราะตลาดรถมือสองถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มูลค่าตลาดมากกว่าตลาดรถใหม่ราว ๆ 2 เท่าตัว (มียอดขายต่อปีประมาณ 8 แสนคัน)

“ที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อหดหาย เศรษฐกิจถดถอย การแข่งขันในตลาดสูง รวมถึงไฟแนนซ์เข้มในการอนุมัติสินเชื่อจากปัญหาหนี้เสีย รวมถึงสงครามราคา ทำให้แต่ละไตรมาสตลาดหดตัวไป 20-30% เซ็กเมนต์ที่กระทบหนักสุด คือ กลุ่มรถปิกอัพ เพราะลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจับลบทางเศรษฐกิจ ล่าสุดไตรมาสแรกปี 2567 เฉพาะตลาดปิกอัพหดตัวเกือบ 50% เมื่อรถใหม่มีปัญหาก็ลุกลามไปถึงรถยนต์มือสอง โดยเฉพาะเรื่องราคาตอนนี้ราคารถมือสองตกต่ำลงเยอะมาก”

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่า ตลาดรถมือสองจะทนแรงเสียดทานได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ดูโดยเฉพาะเต็นท์รถ ก็มีหลายแห่งเลิกกิจการไปพอสมควร ใครสายป่านยาวไม่พอก็คงต้องออกจากตลาดไป ขนาดบริษัท คาร์ส24 กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่จากอินเดีย ยังต้องยอม

จริง ๆ คาร์ส24 เตรียมประกาศปิดกิจการมาพักใหญ่แล้ว และปัญหาใหญ่สุด คือ ต้นทุนที่สูงกว่าชาวบ้าน กลุ่มนี้ไม่ค่อยมีเน็ตเวิร์กในการจัดหารถยนต์ใช้แล้วเข้าสู่ระบบ ทั้งจากลานประมูล จากไฟแนนซ์ เขาใช้แพลตฟอร์มระบายรถออกจากระบบเท่านั้น แต่การหารถเข้า ใช้วิธีรับซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ทำให้ราคาซื้อเข้ามีต้นทุนสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ตอนนี้คนที่อยู่ได้ต้องที่มีเครือข่าย สามารถรับรถจากลานประมูลซึ่งเป็นรถยึดคุณภาพดี ราคาเหมาะสม”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า CARS24 ถือเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% จริง ๆ สามารถทำรายการซื้อขายรถมือสองได้ ตั้งแต่การเลือกรถ จองเพื่อทดลองขับ และซื้อรถ รวมถึงบริการและการรับประกันต่าง ๆ เพียงแต่ขาดเน็ตเวิร์กจึงทำให้อยู่ยาก

ร้านอาหารแข่งขันสูง

นางฐานิวรรณ มงคลกุล นายกสมาคมภัตตาคารไทย แสดงความเห็นว่า สำหรับภาพการทยอยปิดร้านอาหารที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดร้านอาหาร แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรง ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากมีผู้ประกอบการในตลาดเป็นจำนวนมาก และหลากหลายประเภท ทั้งที่เปิดตามศูนย์การค้า สตรีตฟู้ด รวมทั้งยังมีบริการดีลิเวอรี่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ วันนี้เม็ดเงินมันหายไป เพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทุกวันนี้ ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

“วันนี้การทำร้านอาหารเป็นอะไรที่ไม่ง่าย เพราะการแข่งขันสูง ตัวเลือกผู้บริโภคมีมาก แล้วลูกค้าก็แยกเซ็กเมนต์ลงไปว่าจะกินอะไร ฉันจะเอาอะไร มีการเปรียบเทียบ มีการเสิร์ชข้อมูลว่าอะไรคุ้มค่ากว่า ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว และมองตลาดให้ออก และมีการบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพ”

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการร้านอาหารอีกรายหนึ่ง กล่าวในเรื่องนี้ว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องทยอยปิดตัว บางรายอาจจะเกิดจากภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การแข่งขันที่ยังสูง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเมื่อยอดขายหรือรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ และยังปรับตัวไม่ได้ ก็อาจจะต้องตัดสินใจปิดกิจการในที่สุด และคาดว่าภาพในลักษณะนี้จะยังมีให้เห็นเป็นระยะ ๆ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ปิดโรงงานยอดเพิ่มเท่าตัว จับตาธุรกิจรถมือสองเสี่ยง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-05-04T00:52:57Z dg43tfdfdgfd