ศึกยานยนต์รอบใหม่ ไฮบริด VS อีวี

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ข้อมูลใหม่ทางด้านการตลาดของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกแสดงให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจอย่างยิ่งประการหนึ่ง นั่นคือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของยอดขายยานยนต์ประเภท “ไฮบริด” ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง

รถไฮบริดที่ว่านี้ เรียกกันอย่างเป็นทางการในอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า “Plug-in Hybrid Electric Vehicles” ใช้ตัวย่อง่าย ๆ ในวงการว่า “พีเอชอีวี” (PHEV) เทคโนโลยีลูกผสม ที่ทำให้รถยนต์สามารถใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ หรือจะใช้ไฟฟ้าก็ได้

เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือ “รถอีวี” ทั่วโลกคิดสัดส่วนแล้วมากกว่ายอดขาย พีเอชอีวีถึงกว่า 2 เท่าตัว แต่จากสถิติยอดขายในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 นี้ พีเอชอีวีกลับทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้เกือบ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดขายรถอีวีแท้ ๆ กลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่8% เท่านั้นเอง

นั่นหมายความว่า ช่องว่างของยอดขายของรถยนต์ทั้งสองประเภทขยับเข้ามาใกล้กันอย่างมากแล้ว แถมยังมีแนวโน้มชัดเจนว่า บรรดาลูกค้ายังคงนิยมเลือกใช้รถไฮบริดสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความนิยมในรถอีวีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

และเป็นที่มาที่ทำให้ผู้ผลิตอย่าง “วอลโว่” ต้องกลับลำ ประกาศชัดเจนในเดือนนี้ว่า จะไม่ดำเนินการตามที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า รถที่บริษัทผลิตออกมาจะเป็นอีวีทั้งหมดภายในปี 2030

แต่หันมากำหนดทิศทางใหม่ว่า เมื่อสิ้นทศวรรษนี้ 90% ของรถที่วอลโว่ ผลิตออกมาทั้งหมดจะเป็นทั้งอีวี และพีเอชอีวี

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม “ฟอร์ด”ยักษ์ใหญ่ในโลกรถยนต์โลกอีกรายก็ประกาศยกเลิกแผนรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ที่เป็นอีวี แล้วหันมาเลือกเทคโนโลยี พีเอชอีวี แทน

ส่วนฮุนไดขยับเพิ่มรถพีเอชอีวี ของตนจาก 7 รุ่นเป็น 14 รุ่น เช่นเดียวกับโฟล์คสวาเกน ที่เตรียมเพิ่มรุ่นรถพีเอชอีวีขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่ประกาศทบทวนแผนผลิตอีวีของตนเองออกมาเหมือนกัน

ทำไมจู่ ๆ ผู้บริโภคถึงหันมาเลือกใช้รถไฮบริดกัน แทนที่จะเลือกเป็นรถอีวีแท้ๆ

เหตุผลส่วนหนึ่ง แต่ค่อนข้างเป็นส่วนสำคัญเพราะสอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันก็คือ เป็นเพราะรถพีเอชอีวี ราคาถูกกว่ารถอีวี แถมยังแพงกว่ารถใช้น้ำมันแต่เดิมเพียงไม่กี่มากน้อยเท่านั้น

รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าเต็มตัวในการขับเคลื่อนนั้น จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มีความจุสูง เพื่อให้ได้ระยะทางไกล ๆ ที่เป็นที่ต้องการกัน

ตรงกันข้าม พีเอชอีวีกลับใช้แบตเตอรี่ขนาดย่อม โดยปกติมักมีขนาดเพียง 20 เค/ดับเบิลยู วิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ประมาณ 40-50 กิโลเมตร เมื่อแบตหมด ก็จะสวิตช์มาใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแทน

เจ้าของรถไฮบริดจึงจ่ายค่าแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ในเวลาเดียวกันก็ขับได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกระวนกระวายว่าพลังงานในแบตเตอรี่จะหมดลงเมื่อใด เพราะสามารถใช้น้ำมันทดแทนได้ และใช้การขับขี่ด้วยน้ำมันชาร์จแบตเตอรี่ไปด้วยในตัว

พีเอชอีวีจึงไม่เพียงราคาถูกกว่า อีวีเอามาก ๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็สิ้นเปลืองพลังงานน้ำมันน้อยลงกว่ารถใช้น้ำมันอย่างเดียวพร้อมกันไปด้วย

ในแง่ของผู้ผลิต พีเอชอีวีน่าสนใจมากกว่าอีวี เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ทำให้ขายได้กำไรแบบเดียวกับที่เคยผลิตรถน้ำมันขาย ต่างกับอีวี ที่ทุกวันนี้หลายต่อหลายบริษัทยังขายอยู่ในราคาขาดทุน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงยานยนต์เชื่อว่า พีเอชอีวีเป็นเพียงแค่ “แฟชั่น” ชั่วคราว สุดท้ายในโลกของยานยนต์ก็จะลงเอยอยู่ในรูปของยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เต็มตัวกันอยู่ดี

เหตุผลหนึ่งก็คือว่า จนถึงขณะนี้ ตลาดรถยนต์สำคัญ ๆ ยังคงมุ่งหน้าไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันเป็นสำคัญ

ในสหรัฐอเมริกา ข้อบังคับซึ่งเริ่มใช้กันในแคลิฟอร์เนีย แต่ในขณะนี้บังคับใช้แพร่หลายกันในอีกอย่างน้อย 16 รัฐ ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายในปี 2035 รถใหม่ที่จะขายกันสามารถเป็นรถพีเอชอีวีได้ไม่เกิน 20% ส่วนที่เหลือต้องเป็นอีวีเท่านั้น

ในสหภาพยุโรป มีบทบัญญัติชัดเจนว่า รถที่ใช้น้ำมัน รวมทั้ง พีเอชอีวี จะถูกห้ามขายภายในปี 2035 ที่จะถึงนี้

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ราคาแบตเตอรี่ สำหรับใช้กับรถยนต์อีวี เริ่มมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ และจะยิ่งลดลงมากขึ้นไปอีก เมื่อมีการขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้น หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตให้ดีขึ้น

เบิร์นสตีน บริษัทวิจัยด้านการตลาดรถยนต์ทำนายว่า ยอดขายพีเอชอีวีจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปได้อย่างมากที่สุดก็แค่ภายในปี 2030

หลังจากนั้น โลกของยานยนต์จะเป็นโลกของรถอีวีไปในที่สุด

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ศึกยานยนต์รอบใหม่ ไฮบริด VS อีวี

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-27T12:15:13Z dg43tfdfdgfd