ที่จอดรถคนพิการ คนปกติจอดผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วใครจอดได้บ้าง

ว่าด้วยเรื่อง ที่จอดรถคนพิการ คนปกติจอดผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วใครจอดได้บ้าง ตีเนียนจอดไปเรื่อย ๆ เพื่อความสบายของตัวเอง แต่คนต้องใช้งานจริงกลับต้องถูกเบียดเบียน

เมื่อพูดถึงเรื่อง ที่จอดรถคนพิการ ที่จอดรถคนชรา ที่จอดรถผู้หญฺง มักถูกพูดถึงเป็นประเด็นร้อนตลอดเวลา นับเป็นหนึ่งในประเด็นที่ยังคงถูกหยิบมาถกเถียงโดยตลอด ทั้งที่มีสัญลักษณ์อย่างชัดเจนว่า "บริเวณนี้เป็นที่จอดรถสำหรับคนพิการ คนชรา และสตรี"

แต่ยังคงมีคนที่ใช้เหตุการณ์ตรงนี้ ตีเนียนจอดรถในที่ห้ามจอด เพื่อความสบายของตัวเองอยู่อีกหลายครั้ง จนเกิดเป็นคำถามว่า "เมื่อไรที่คนใช้งานจริง จะได้ใช้สิทธิของตัวเอง" วันนี้ Amarin จะพาไปดูว่า ที่จอดรถคนพิการ คนปกติจอดผิดกฎหมายมั้ย ถ้าไม่ผิดกฎหมายแล้วผิดที่เรื่องไหน แล้วใครจอดได้บ้าง ?

 

 

ที่จอดรถคนพิการ คืออะไร ?

ที่จอดรถคนพิการ คือ ที่จอดที่สงวนไว้เพื่อคนพิการโดยเฉพาะ เป็นที่จอดที่กว้างกว่าที่จอดปกติทั่วไป เพื่อรองรับการใช้รถเข็นวีลแชร์ หรือไม้ค้ำแขน ส่วนใหญ่แล้วจะตั้งอยู่ใกล้กับจุดเข้าออกอาคารมากที่สุด เพื่อให้ผู้ที่มีความบกพร่องเรื่องการเคลื่อนไหวคล่องตัว และใช้งานได้สะดวกมากที่สุด

โดยส่วนใหญ่แล้ว สัญลักษณ์สำหรับที่จอดรถคนพิการ จะใช้เป็นลักษณะคนนั่งอยู่บนรถเข็น โดยแปะตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งป้าย ติดตั้งโปสเตอร์หน้าประตู รวมถึงบนพื้นลานจอดรถ ส่วนใหญ่มักใช้สีฟ้า-ขาว เพื่อเป็นอัตลักษณ์ที่รู้กันว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าว ถูกจัดเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกเป็นพิเศษให้กับคนพิการ

ตามกฎหมายขนาดที่จอดรถคนพิการ จะต้องเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมที่มีความกว้าง ความยาวไม่น้อยกว่า 2,400 x 6,000 มม. และต้องมีระยะห่างด้านข้างของที่จอดรถ 100 ซม. ขึ้นไป ต้องเป็นบริเวณพื้นที่ราบเรียบ มีสัญลักษณ์ชัดเจน รวมถึงควรมีพื้นลาดชัน เพื่อรองรับการใช้งานวีลแชร์ด้วย

 

ทำไมถึงต้องมี ที่จอดรถคนพิการ?

การมีที่จอดรถของคนพิการในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน หรือสวนสาธารณะ เป็นการมีไว้เพื่อคงเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ทุกคนมีความเสมอภาคในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความหย่อนความสามารถ ในการดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ คนชราภาพ ผู้ทุพลภาพ หรือแม่ท้อง นั่นก็เพื่อเป็นการรองรับการดูแลตัวเองของคนนั้น เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเสมอภาค

อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ เพื่อผู็พิการหรือได้รับบาดเจ็บหลายคน อาจประสบปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ทำให้ยากต่อการเดินทางไกลเพื่อทำธุระส่วนตัว และการมีพื้นที่จอดรถสำหรับผู้พิการ เป็นตัวช่วยที่จะทำให้คนเหล่านั้น สามารถเข้าถึงความสะดวกได้มากขึ้น

 

 

ที่จอดรถคนพิการ ใครจอดได้บ้าง

ที่จอดรถคนพิการ ไม่ใช่มีเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ ไม่อาจขัดต่อความเป็นจริงที่ว่า "ไม่ใช่คนพิการทุกคนที่ขับรถได้" อีกทั้งข้อกฎหมายได้ระบุคุณสมบัติของผู้ที่ทำใบอนุญาตขับขี่ได้อย่างชัดเจน โดยผู้นั้นต้องไม่เป็นผู้พิการทางร่างกาย ตั้งแต่แขน ขา ตาบอด หูหนวก และลำตัวพิการ ที่เป็นเหตุไม่สามารถทำให้ขับรถยนต์ได้ ทั้งนี้ก็ยังมีผู้พิการบางคนที่ยังสามารถใช้งานการขับขี่ได้เช่นกัน ที่จอดรถคนพิการ จึงกลายเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวก เพื่อคนพิการ ทุพพลภาพ และคนชรา

 

แบบไหนถึงจะสามารถใช้ ที่จอดรถคนพิการ

อย่างที่บอกในข้างต้นว่าผู้พิการบางราย อาจจะยังใช้งานรถได้ หรือคนชราบางคนก็ยังคงขับรถได้ แต่แล้วแค่ไหนถึงจะสามารถใช้งานได้ โดยสามารถจำแนกบุคคลที่นอกจากผู้พิการแต่กำเนิดแล้ว บุคคลต่อไปนี้มีสิทธิ์จอดรถในที่จอดรถสำหรับผู้พิการ ได้แก่

  • บุคคลที่มีความพิการทางกาย คนที่จำกัดการเคลื่อนไหว เช่น ผู้ที่ใช้รถเข็น วีลแชร์ หรือไม้ค้ำยัน, บุคคลที่มีความบกพร่องทางจิต คนที่จำกัดความสามารถในการจอด, คนที่หลงลืมที่จอด
  • บุคคลทุพพลภาพชั่วคราว เช่น ผู้ที่ฟื้นตัวจากการผ่าตัด หรือได้รับบาดเจ็บ แต่กลุ่มนี้จำเป็นต้องแสดงใบอนุญาตชั่วคราว บางพื้นที่อาจมีค่าปรับ หากฝ่าฝืน ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่
 

 

ที่จอดรถคนพิการ คนท้องจอดได้หรือไม่ ?

จากเงื่อนไขที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาจเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนได้ว่า ผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก คนท้อง ล้วนไม่เข้าเงื่อนไขการใช้บริการที่จอดรถคนพิการ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลายสถานที่มีการปรับพื้นที่ลานจอดรถ ให้ครอบคลุมกับผู้ใช้บริการที่หลากหลาย บางพื้นที่อาจทำที่จอดรถอย่างชัดเจน เช่น ที่จอดรถคนพิการ ที่จอดรถเฉพาะสตรี และที่จอดรถสำหรับครอบครัว เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ผู้ที่ไม่สามารถใช้งานที่จอดรถปกติได้

 

คนไม่พิการใช้ที่จอดคนพิการ ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

โดยทั่วไปแล้ว มักเห็นคนปกติหลายคน ใช้บริการจอดรถสำหรับคนพิการหรือคนชราอยู่บ่อยครั้ง เป็นการเบียดเบียนสิทธิ์ที่คนพิการควรได้รับ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวรองรับ เนื่องจากเครื่องหมายที่จอดสำหรับคนพิการ ไม่ใช่เครื่องหมายห้ามจอด และพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ ก็ไม่เข้าข่ายพื้นที่ห้ามจอดตามที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก ตามที่มาตรา 57 ระบุเอาไว้ด้วย

แม้การแย่งที่จอดสำหรับผู้พิการ จะเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีการเสียค่าปรับแต่อย่างใด แต่ด้วยความเป็นคนไทย ด้วยสามัญสำนึก คนปกติส่วนใหญ่มักไม่ทำการเบียดเบียนดังกล่าว อีกทั้งที่จอดคนพิการยังมีจำนวนเพียง 10% จากที่จอดรถทั้งหมดเพียงเท่านั้น หากลานจอดดังกล่าวมีพื้นที่รองรับรถยนต์ได้ทั้งหมด 25 คัน แต่มีที่จอดรองรับคนพิการเพียงแค่ 1 ที่ว่างเท่านั้น แต่ก็ยังมีคนที่ลักไก่ใช้บริการอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น หากพบว่าคนปกติจอดรถในที่จอดรถคนพิการ ควรเเจ้งเจ้าหน้าที่อาคาร หรือเจ้าหน้าที่สถานที่ เพื่อย้ายรถคันดังกล่าวออกจากที่จอดรถทันที

ดังนั้นแล้ว เมื่อพูดถึงปัญหาที่จอดรถคนพิการ อาจจะยังเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งได้ในอนาคต อาจเกิดเป็นดราม่าครั้งที่นับไม่ถ้วนก็เป็นได้ และเพื่อความเสมอภาคที่ไม่ได้แปลว่า ทุกคนต้องได้เท่ากันหมด แต่กับบางคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต สังคมจำเป็นจะต้องเอื้อประโยชน์บางอย่าง เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้เหมือนคนอื่น ๆ

 

ที่มา : สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย (dth.or.th) / มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (fcdthailand.org) / thematter (thematter.co

อ่านข่าวต้นฉบับ:

อมรินทร์ทีวี ทันข่าวได้ที่

เว็บไซต์:www.amarintv.com

เรื่องธุรกิจที่ :ติดตาม SPOTLIGHT มองขาดทุกโอกาสธุรกิจ

2024-07-26T08:19:05Z dg43tfdfdgfd