พ.ร.บ. รถยนต์ หนึ่งในสิ่งที่อย่าหลงลืม

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน ได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการเงินการลงทุนกันเป็นประจำ สม่ำเสมอกันอยู่แล้วใช่มั้ยครับ เราพยายามในการหาเงิน หรือลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่งอกเงย และพยายามหาทุกวิถีทางที่เงินต้นจะยังคงอยู่ วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าเหตุการณ์น่าสนใจเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับอุบัติเหต์ทางรถยนต์ ที่ก็ไม่ได้อยากมีใครให้เกิดขึ้น แต่หากเกิดแล้ว และเราหลงลืมในบางอย่าง อาจทำให้เราต้องนำเงินที่เราตั้งใจว่าจะเป็นเงินลงทุนของเรามาจ่ายค่าชดเชยได้ครับ

“หากว่ากันด้วยเรื่องของอุบัติเหตุ คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนอกความสูญเสียทางร่างกาย และจิตใจแล้วนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น อีกด้วย โดยวันนี้ผมจะขอมาเล่าถึงเคสที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ ถึงแม้จะมีประกันชั้นหนึ่ง แต่ยังต้องมาจ่ายค่าสินไหมเพิ่มให้คู่กรณี เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ได้ทราบกันครับ

“มีจดหมายจากกองทุนทดแทนอะไรนี่หละ มาเรียกเก็บเงินจากพี่ 30,000 แต่วันนั้นคุยกันจบที่ สน. ไปแล้วนะ พี่ต้องจ่ายไหม แล้วพี่มีประกันชั้น 1 ด้วย พี่ให้ประกันจ่ายให้ได้ไหม” นี่คือคำถามที่ผมได้ยินจากอีกปลายสายของโทรศัพท์ เมื่อรุ่นพี่ที่ผมรู้จักโทรมาขอคำปรึกษา โดยเรื่องมีอยู่ว่ารุ่นพี่ท่านนี้ หลังจากเหน็ดเหนื่อยหลังเลิกงาน ที่ยุ่งอยู่แทบทุกวัน ก็ขับรถกลับบ้านตามปกติ โดยก่อนจะเลี้ยวเข้าซอยที่พัก ก็เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่วิ่งมาอีกทางหนึ่ง และเรื่องไปจบกันที่โรงพัก ตำรวจลงบันทึกประจำวัน รุ่นพี่ท่านนี้ก็จ่ายเงินให้คู่กรณีเพื่อยอมความกันไป เรื่องดูเหมือนจะจบ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็มีจดหมายมาจาก กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ แจ้งให้ไปชำระค่าสินไหมเป็นจำนวน 30,000 บาท

คำถามก็คือ ถ้าเรามีประกันชั้นหนึ่งที่คุ้มครองคู่กรณีอยู่แล้ว ยังจะต้องชำระค่าสินไหม ก้อนนี้หรือไม่ หรือ สามารถนำค่าสินไหมนี้ไปเบิกยังประกันชั้นหนึ่งที่เรามีอยู่ได้หรือไม่?

ก่อนอื่นนั้นต้องมาไล่ดูกันก่อนว่า จดหมายเรียกร้องสินไหมนี้นั้นมีที่มาอย่างไร โดยสาเหตุของที่มาของจดหมายเรียกร้องสินไหมนี้นั้นเกิดจากการที่คู่กรณีของรุ่นพี่ท่านนี้ได้นำหลักฐานบันทึกประจำวัน ไปทำเรื่องเบิกค่ารักษาพยาบาลกับทาง กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ที่รถจักรยานยนต์ คันนี้ได้ทำ พ.ร.บ. ไว้นั่นเอง 

โดยเมื่อมีหลักฐานครบ ทางผู้เบิกก็จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท ภายในระยะเวลา 7 วัน โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด และเมื่อมีการเบิกค่าสินไหมไปแล้ว ทาง กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ก็จะมาไล่เบี้ยจาก พ.ร.บ. ของทางคู่กรณี ซึ่งก็คือรุ่นพี่ผมคนนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม อาจจะด้วยความลืม หรือเข้าใจผิด ทำให้ รุ่นพี่ผมท่านนี้ ลืมต่อ พ.ร.บ. ประจำปีไป ทำให้ในขณะเกิดเหตุ รถยนต์คันนี้ไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครอง

ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อ รถยนต์คันนี้ไม่มี พ.ร.บ. ทางกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ก็จะทำการเรียกร้องสินไหมไปที่ตัวเจ้าของรถแทนนั่นเอง

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วถ้าหากเราทำประกันภัยชั้น 1 ไว้ โดยมีความคุ้มครองถึงบุคคลภายนอกด้วย จะสามารถค่าใช้จ่ายนี้มาเบิกประกันได้หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้ก็คือต้องย้อนกลับไปดูที่เงื่อนไขของกรมธรรม์ที่ได้ทำไว้ว่า ระบุเงื่อนไขการคุ้มครองไว้อย่างไร 

โดยส่วนมากแล้ว กรมธรรม์มักจะระบุเงื่อนไขความคุ้มครองในส่วนของความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยไว้ว่า “บริษัท จะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัย ของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ. รถยนต์) ตามความเสียหายที่แท้จริงที่….” ซึ่งก็หมายความว่า หากเกิดเหตุขึ้นมา เงินค่าชดใช้ ในส่วนแรกจะถูกชดเชยด้วย พ.ร.บ. รถยนต์ นั่นเอง และส่วนที่เกินจากนั้นจึงจะจ่ายโดยบริษัทประกันภัย

นั่นหมายความว่า สำหรับเคสของรุ่นพี่ผมคนนี้นั้น ทางบริษัทประกันภัยจะไม่ทำการจ่ายเงินในส่วนที่ทาง กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถเรียกมา เจ้าของรถ จะต้องเป็นคนจ่ายค่าสินไหม นี้ด้วยตนเอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสรุปแล้วนั้น นับว่าเคสนี้เป็นตัวอย่างบทเรียนราคาแพง และ อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยที่ถึงแม้จะมีเงื่อนไขว่าหากไม่ต่อ พ.ร.บ. ก็จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ แต่บางครั้ง รอบในการต่อ พ.ร.บ. ก็อาจจะเหลื่อมกับรอบการต่อภาษี ทำอาจเกิดช่วงเวลาที่ขาดต่อ พ.ร.บ. ไปได้ ดังนั้น เจ้าของรถยนต์ จึงควรให้ความสำคัญกับการต่อ พ.ร.บ. เพราะหากขาดต่อ พ.ร.บ. แล้วเกิดอุบัติเหตุนั้น ค่าสินไหมในการรักษาพยาบาลของคู่กรณีที่กองทุนทดแทนออกไปนั้น ทางเจ้าของรถจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดโดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นฝ่ายผิดหรือถูก ซึ่งถึงแม้จะมีประกันชั้นหนึ่ง ก็ยังต้องจ่ายอยู่ดี และหากโชคร้าย คู่กรณีได้รับบาดเจ็บ จนทุพพลภาพ จะมีค่าใช้จ่ายสูงได้ถึง 65,000 บาทต่อคนเลยทีเดียว นี่คือต่อคนนะครับ ลองคิดว่าถ้าหากอุบัติเหตุนั้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1 คน จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากเท่าไร และ จะกระทบต่อ การเงินของเราอย่างไร”

2024-09-03T22:04:35Z dg43tfdfdgfd