BITE SIZE : รถโดยสาร BRT ปรับโฉมใหม่ ดีกว่าเดิมแค่ไหน ?

Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT บริการขนส่งสาธารณะที่ให้บริการคนกรุงเทพ ย่านสาทร-พระราม 3-ราชพฤกษ์ มานานกว่า 10 ปี ถึงเวลาปรับโฉมใหม่ โดย BTSC เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาระบบการเดินรถด่วนพิเศษ (BRT) ระยะสัญญาจ้าง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2572 และเริ่มต้นให้บริการรถ BRT รูปแบบใหม่ ตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา

รถโดยสาร BRT โฉมใหม่จะน่าสนใจอย่างไร เส้นทางเดินรถ การให้บริการต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมแค่ไหน

Prachachat BITE SIZE รวบรวมรายละเอียด ดังนี้

รถ BRT รุ่นใหม่ พลังงานไฟฟ้า-ชานต่ำ

รถโดยสาร BRT รุ่นใหม่ ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ต่างจากรถรุ่นเดิมใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่รถรุ่นใหม่ มีให้บริการน้อยลง จากเดิมรถรุ่น NGV ให้บริการ 25 คัน ส่วนรถรุ่น EV ให้บริการ 23 คัน

ส่วนรูปแบบของรถ BRT รุ่นใหม่ มีการปรับหลายอย่าง ทั้งตัวรถที่เป็นชานต่ำ (Low floor) พื้นที่ทางเข้า-ออก และตัวรถโดยสาร สูงจากระดับผิวถนน 34 เซนติเมตร รองรับการปรับเส้นทางรับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณป้ายรถประจำทางได้ เพิ่มประตูเข้า-ออกทางฝั่งขวาของตัวรถโดยสารอีก 1 ประตู เพิ่มเติมจากฝั่งซ้ายที่มีอยู่แล้ว 2 ประตู และมีทางลาดทั้ง 2 ฝั่ง รองรับการใช้งานของรถเข็นผู้พิการ (Wheelchair)

ภายในรถ มีที่นั่งผู้โดยสาร 30 ที่นั่ง อุปกรณ์ราวจับสำหรับพื้นที่ยืน และมีพื้นที่รองรับรถเข็นผู้พิการ (Wheelchair) ใกล้กับประตูเข้า-ออก คล้ายกับรถเมล์ EV รุ่นใหม่ที่มีใช้งานในปัจจุบัน

ปรับสถานี-เพิ่มจุดจอดใหม่

สำหรับการเดินรถโดยสาร BRT ตามสัญญาใหม่ จะมีสถานีให้บริการ 12+2 สถานี แบ่งเป็น 12 สถานีเดิม ตั้งแต่สาทร จนถึงราชพฤกษ์ และเพิ่ม 2 สถานีใหม่ คือ สถานีถนนจันทน์เหนือ และสถานีถนนจันทน์ใต้

นอกจาก 14 สถานีดังกล่าวแล้ว ตามเอกสาร TOR ของ กทม. จะมีการเพิ่มเส้นทางที่ 2 ช่วงแยกทางด่วนสาธุประดิษฐ์ ถึง แยกนราธิวาสราชนครินทร์-รัชดาภิเษก ถึงสถานีสาทร (B1) ถึง MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี และเพิ่มเส้นทางไป สถานีนราราม 3 ในชั่วโมงเร่งด่วน โดยจุตรับ-ส่งผู้โดยสาร จะเป็นบริเวณป้ายรถโดยสารประจำทาง ตลอดแนวเส้นทางการเตินรถโดยสาร

การเดินรถ BRT เส้นทางที่ 2 มีแผนที่จะขยายการเดินรถ จาก MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ต่อขยายไปทางถนนวิทยุ ถึง BTS สายสีเขียวอ่อน (สุขุมวิท) สถานีเพลินจิต ซึ่งจะขยายการเดินรถในอนาคต

ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางที่ 2 ยังไม่ให้บริการ ตอนนี้ กทม.จะยื่นขออนุญาตขยายเส้นทางให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาอนุญาตอีกครั้ง ก่อนเปิดเดินรถ

ส่วนพื้นที่สถานีรถโดยสาร BRT ซึ่งเดิมเป็นชานชาลาที่รับกับรถรุ่นเดิม ผู้ใช้บริการช่วงแรก ๆ อาจจะเจอว่า ต้องเดินจากชานชาลาเดิมลงไปที่ชานชาลาชั่วคราว หรือสถานีใหม่ยังเป็นแค่เต็นท์ชั่วคราวอยู่

กทม.กำลังหาผู้ปรับปรุงสถานีเดิมทั้ง 12 สถานี และสร้างสถานีใหม่ 2 สถานี ซึ่งแต่ละสถานีก็ออกแบบแตกต่างกัน มีตั้งแต่ปรับสถานีเดิม สร้างใหม่เชื่อมกับสถานีเดิม และการสร้างสถานีที่เพิ่มมาใหม่ บริเวณถนนจันทน์เหนือ และถนนจันทน์ใต้

สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเปิดประมูลไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มีผู้สนใจยื่นประกวดราคา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างในการปรับปรุงสถานีและก่อสร้างหลังคาครอบคลุมทางเดิน โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

รูปแบบบริการ BRT ใหม่

สำหรับการให้บริการรถโดยสาร BRT เปิดเวลาเดิม ทุกวัน 06.00-22.00 น. โดยความถี่การให้บริการ จันทร์-ศุกร์ วันทำการ ช่วงเวลาปกติ ให้บริการทุก 10 นาที และช่วงเวลาเร่งด่วน ให้บริการทุก 5-8 นาที ส่วนเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้บริการทุก 12 นาที

ส่วนการจ่ายค่าโดยสาร สามารถชำระด้วยบัตรแรบบิท หรือสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อขึ้นโดยสารรถบีอาร์ที ซึ่งในรถโดยสาร จะมีจุดแตะบัตร-สแกนคิวอาร์โค้ด ให้บริการ และไม่มีการจำหน่ายบัตรโดยสารที่สถานี

แต่ช่วง 2 เดือนแรก ตั้งแต่ 1 กันยายน-31 ตุลาคมนี้ ใช้บริการฟรี หลังจากนั้นก็จะเริ่มเก็บค่าโดยสารอย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วง 2 เดือนนี้ จะเป็นการทำระบบเก็บค่าโดยสารให้เรียบร้อย และขออนุญาตกรมการขนส่งทางบกในการเก็บค่าโดยสารด้วย

ขณะที่ปัญหาที่ผู้ใช้บริการวันแรก ๆ ของการเริ่มให้บริการรถรุ่นใหม่ประสบ นอกจากเรื่องสถานี ยังมีเรื่องรถมาช้า ความถี่ของรถ จนถึงเรื่องการนำรถไปชาร์จไฟฟ้าที่สถานีชาร์จไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งอยู่นอกเส้นทาง

สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. แจ้งให้ BTSC ปรับแผนการเดินรถ โดยให้เพิ่มความถี่การบริการในชั่วโมงเร่งด่วนให้มากขึ้น และกำชับให้ตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมบริการ เพื่อลดผลกระทบช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้รถรุ่นใหม่

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.71 ได้ที่ https://youtu.be/WPwSNAZ9w5Y

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : BITE SIZE : รถโดยสาร BRT ปรับโฉมใหม่ ดีกว่าเดิมแค่ไหน ?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-07T04:09:12Z dg43tfdfdgfd