บีทีเอส : สัญญาเดินรถสายสีเขียว 1.9 แสนล้าน กับ 11 ปี ที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบ

ปม ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. พร้อมผู้บริหาร บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ทุจริตต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ผู้บริหาร BTSC ยืนยันดำเนินการถูกต้อง ไม่ถือว่าต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่เป็นสัญญาจ้างเดินรถ พร้อมตั้งคำถาม เหตุใดการไต่สวนที่นานเกือบ 11 ปี จึงมีมติออกมาในช่วงที่กำลังมีประเด็นข้อพิพาทการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

"รถวันนี้ที่เดินอยู่ มันมาจากต้นทุนของบีทีเอส ไม่ใช่จากรัฐบาล แต่รัฐบาลกำลังทำให้บีทีเอสอ่อนแอ ถ้าอ่อนแอจริง ๆ จะแจ้งให้ผู้โดยสารทราบก่อน" นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท BTSC ระบุ

นายคีรี ประธานกรรมการ BTSC บอกด้วยว่า ขณะนี้ รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ไม่จ่ายหนี้ค่าเดินรถที่สะสมรวมดอกเบี้ยแล้วเกือบ 50,000 ล้านบาท

ด้าน พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ BTSC กล่าวว่า การไต่สวนดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงตอนนี้เกือบ 11 ปีแล้ว เหตุใดจึงมีมติออกมาช่วงนี้ อีกทั้ง เอกสารสำคัญที่เป็นสำนวนไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเอกสารลับ

"การปล่อยให้การไต่สวนล่วงเลยมา 11 ปี มันมีผลอะไรเกิดขึ้น หลายข้อหา มันขาดอายุความไปแล้ว แล้วทำไมการแจ้งข้อกล่าวหา จึงเกิดขึ้นระหว่างที่คุณคีรี และ บริษัท กำลังต่อสู้ในเรื่องของ ความไม่ชอบมาพากล ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม"

การชี้แจงของผู้บริหาร BTSC เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และพวก รวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2585 โดยมีการทำสัญญากันเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 ภายใต้วงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาระบุว่า เป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ตามที่องค์คณะไต่สวนเสนอ

การออกมาแถลงชี้แจงของผู้บริหาร BTSC เกิดขึ้นขณะที่ช่วงเช้า พนักงานบีทีเอส ได้รวมตัวยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการจ่ายหนี้ภายใน 7 วันหากไม่ดำเนินการอาจจะพิจารณาหยุดการเดินรถ

ผู้ถูกกล่าวหารวม 13 คน นอกจาก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ อดีตผู้ว่าฯ กทม. ยังมีผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ระดับรองผู้ว่าฯ ปลัด กทม. รองปลัด ไปจนถึงระดับ ผู้อำนวยการสำนัก/กอง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้างในโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

หลังจากข่าวกรณีมติ ป.ป.ช. เผยแพร่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ราคาหุ้นกลุ่มบีทีเอส 3 ตัว ได้แก่ BTS, VGI และ BTSGIF ปรับตัวลดลงหนัก ช่วงเช้าวานนี้ (13 มี.ค.) โดยหุ้น BTS ราคาเปิดอยู่ที่ 5.40 บาท ปรับตัวลดลงกว่า 2.15 บาท หรือลดลงกว่า 28.5% จากราคาปิดวันที่ 11 มี.ค.

บีทีเอส อ้างทำสัญญาเดินรถผ่านความเห็นกฤษฎีกาสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท BTSC กล่าวในการแถลงไล่เรียงลำดับเวลา และเงื่อนไขสัญญาการเดินรถของรถไฟฟสายสีเขียวที่ทำกับกรุงเทพมหานครว่า เป็นรูปแบบสัญญาจ้างการเดินรถที่ BTSC รับจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของ กทม. ซึ่งผ่านการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

นายสุรพงษ์ แจกแจงว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่มตั้งแต่สมัยนายพิจิตต์ รัตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม. เวลานั้นรูปแบบโครงการเป็นประเภทการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพี แต่เป็นรูปแบบโครงการที่เอกชนต้องลงทุน 100% แต่เมื่อเปิดประมูล กลับไม่มีผู้ประมูล จึงได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเจรจากับ BTSC โดยตรง ประกอบที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม. จึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการเจรจาโดยตรงกับ BTSC เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2543

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. BTSC จึงแจ้งไปที่ กทม. ว่า หากลงทุนเหมือนโครงการเดิม 100% BTSC ไม่สามารถทำได้ หากให้ดำเนินการต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้รถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) ลงทุน

ผลปรากฏว่า คณะกรรมการแจ้งมาที่บริษัทว่าไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ บีทีเอสเสนอ เนื่องจากขัดต่อมติ ครม. ดังนั้น BTSC จึงเห็นว่า การดำเนินการตามมติ ครม. ยุติลงในขั้นตอนนี้

ต่อมา ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการที่ กทม. ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม ที่ กทม. ถือหุ้นเกือบ 100% เป็นผู้ว่าจ้างบีทีเอสเดินรถทำได้หรือไม่ ผลสรุปว่า สามารถทำได้และไม่ถือว่าต้องปฏิบัติ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ

"ถือว่าเป็นสัญญาจ้าง ท้ายที่สุด จึงให้บีทีเอส ไปเสนอการดำเนินการส่วนต่อขยาย ก็ได้เสนอและลงนามสัญญาในเดือน พ.ค. 2555" นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้บริหารบีทีเอส บอกด้วยว่า หลังจากนั้นมี ส.ส. รายหนึ่งยื่นเรื่องให้ ดีเอสไอ และ ป.ป.ช. สอบสวน ผลการสอบสวนจากดีเอสไอที่ออกมาในปี 2556 สรุปว่าไม่มีความผิด และในชั้นอัยการก็ไม่มีการฟ้อง

มติ ป.ป.ช. ว่าอย่างไร

รายงานข่าวจากไทยรัฐ ผู้จัดการ และกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 13 ราย มีข้อกล่าวหาว่า กระทำทุจริตในการทำสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม ผู้ว่าจ้าง ในฐานะวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท BTSC ผู้รับจ้าง

การกระทำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท เป็นการจ้างเดินรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง)

2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่)

3. ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี

โดยให้สัญญาว่าจ้าง BTSC เดินรถทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585

ทั้งหมดนี้ คือ สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1

เกี่ยวอย่างไรกับค่าโดยสารที่บีทีเอส ทวงหนี้ กทม.

ช่วงเดือน พ.ย. ปี 2565 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อ “ทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท” ต่อกรุงเทพมหานคร โดยมีการเผยแพร่ผ่านสื่อหน้าจอในรถไฟฟ้าและบนสถานี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อของบริษัท วีจีไอ บริษัทลูกในเครือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

หนี้จำนวน 40,000 ล้าน เป็นหนี้จากการค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ BTSC รับภาระมาตั้งแต่ พ.ค. 2562

ขณะนั้น นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กทม. สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือน เม.ย. 2562 จนกระทั่งมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ และได้มีการเจรจาให้เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562

แต่เหตุที่ กทม. ไม่ชำระหนี้นั้น ไม่ใช่การเจตนาไม่ชำระ แต่บันทึกมอบหมายดังกล่าว เมื่อปี 2559 เนื่องจากมีความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะหนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร

จะกระทบส่วนต่อขยายที่ 2 หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ หรือไม่

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. มีมติกล่าวหาเรื่องนี้ว่า หากมีการชี้มูลหรืออื่น ๆ อันมีผลกระทบกับสัญญาฉบับนี้ย่อมส่งผลกระทบกับสัญญาจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า เนื้อหาในสัญญามีความใกล้เคียงกันและสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 ยังเป็นการทำสัญญาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

ส่วนในการดำเนินการต่อไป ทางกรุงเทพธนาคม จะต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ ป.ป.ช. และจะต้องติดตามว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลความผิดหรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงเวลาหนึ่ง

สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต เปิดให้บริการปลายปี 2563 จำนวนให้บริการ 16 สถานี และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 9 สถานี เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร

นายชัชชาติกล่าวว่า เหตุที่ตอนนี้ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร เพราะยังไม่มีข้อสงสัยว่า กทม. มีอำนาจเก็บค่าโดยสารตรงนี้หรือไม่

เขาชี้ว่า หากถ้า กทม. เก็บค่าโดยสารตรงนี้เท่ากับว่าเป็นการยอมรับความถูกต้องของสัญญาจ้างเดินรถ ซึ่งตัวสัญญาดังกล่าวยังไม่ผ่านความสมบูรณ์ถูกต้อง แต่ถ้าทุกอย่างมีความถูกต้องสมบูรณ์ ต้องมีการเรียกเก็บค่าโดยสารต่อไป

2023-03-14T08:58:54Z dg43tfdfdgfd